ปีที่ 50 ฉบับที่ 1 (2020): มกราคม - มิถุนายน 2563

					ดู ปีที่ 50 ฉบับที่ 1 (2020): มกราคม - มิถุนายน 2563

บทบรรณาธิการ

ในวารสารสังคมศาสตร์เล่มนี้ประกอบด้วยบทความ 8 บทความและบทวิจารณ์หนังสือ 1 บทความ ดังนี้

บทความ “Financialization and Everyday International Political Economy: Financial Inclusion” ของ Kalaya Chareonying (กัลยา เจริญยิ่ง) กล่าวถึงนโยบายการเข้าถึงการเงินของคนจนผ่านนโยบายของรัฐว่าด้านหนึ่งสร้างภาพของความเสมอภาค ความเท่าเทียมกันทางโอกาสเพื่อเปลี่ยนคนจนให้เป็นนักธุรกิจ ซึ่งสนับสนุนโดยบรรษัทเงินทุนข้ามชาติและองค์กรระหว่างประเทศ แต่ผลในด้านหนึ่งเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจไปจากความไม่เท่าเทียมอันเกิดจากโครงสร้างตลาด ทั้งยังเพิ่มบทบาทและอำนาจของบรรษัทข้ามชาติและทุนนิยมโลก

บทความ “ผลกระทบของการสอดส่องผ่านเทคโนโลยีและสื่อสังคมที่มีต่อครูและผู้ดูแลเด็กปฐมวัย” ของภัทรพรรณ ทำดี และวัชรี บุญวิทยา มาจากการวิจัยเพื่อทำความเข้าใจสภาพการทำงานของครูและผู้ดูแลเด็กปฐมวัยภายใต้การถูกสอดส่องทางเทคโนโลยี ซึ่งชี้ให้เห็นว่าผู้ปฏิบัติงานรู้สึกระแวดระวัง มีความตึงเครียดในการทำงานและการแยกเวลาส่วนตัวกับเวลาทำงาน ขณะเดียวกันก็ส่งผลทางอ้อมต่อพัฒนาการของเด็ก รวมทั้งการละเมิดสิทธิและความปลอดภัย อีกทั้งยังเกิดความขัดแย้งไม่ไว้วางใจระหว่างผู้ปกครองและครู ผู้วิจัยจึงเสนอให้มีกติกาการใช้เทคโนโลยีและสื่อทางสังคมร่วมกัน

ในบทความของ ศิริพงศ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา เรื่อง “การพัฒนาการท่องเที่ยวในจังหวัดเมืองรอง: การทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางสังคมภายในระบบการท่องเที่ยวของจังหวัดอำนาจเจริญ” มาจากงานวิจัยเพื่อศึกษาการรับรู้และความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยว ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันทางสังคมทำให้เห็นผลในทางปฏิบัติของนโยบายการท่องเที่ยวในเมืองระดับรอง หรือเมืองที่ไม่อยู่ในเส้นทางท่องเที่ยวหลักและชี้ให้เห็นว่าบทบาทของหน่วยงานด้านปกครองและภาครัฐยังมีบทบาทสูงกว่าภาคเอกชน

บทความของ นันท์รพัช ไชยอัครพงศ์ เรื่อง “อาชญาวิทยาสิ่งแวดล้อมกับการลักลอบค้าสัตว์ป่าที่เกิดขึ้นในไทย” ได้ทำความเข้าใจการลักลอบค้าสัตว์ป่าในประเทศไทยผ่านกรอบคิดเรื่องอาชญาวิทยาสิ่งแวดล้อม ซึ่งผลการศึกษาพบว่าการลักลอบค้าสัตว์ป่าสร้างความเสียหายทั้งต่อมนุษย์และสังคม กับสัตว์ป่าไปพร้อม ๆ กัน

กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ นำเสนอบทความเรื่อง “การคุ้มครองทางสังคมถ้วนหน้า: แนวทางการวิเคราะห์เน้นสิทธิมนุษยชนสู่การสนับสนุนรายได้พื้นฐาน” ศึกษาการนำนโยบายการสนับสนุนรายได้พื้นฐาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดเรื่องการคุ้มครองทางสังคมไปปฏิบัติ ตลอดจนข้อถกเถียงในแนวทางดังกล่าวภายใต้อิทธิพลของแนวคิดเสรีนิยมใหม่

ส่วนในบทความของ กิตติพศ พุทธิวนิช เรื่อง “การปฏิรูปกองทัพปลดแอกประชาชน: นัยต่อความเป็นผู้นำของสีจิ้นผิง” อธิบายผลของการปฏิรูปกองทัพปลดแอกประชาชนโดยผ่านการปฏิรูปนโยบายกองทัพ การบูรณาการระหว่างพลเรือนกับทหาร ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อการสถาปนาการเข้าสู่อำนาจของสีจิ้นผิงในฐานะผู้นำสูงสุด ต่างจากยุคก่อนหน้าที่มีความขัดแย้งระหว่างกองทัพกับพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งพยายามยืนหลักการพรรคคุมปืนมาตั้งแต่ยุคเหมาเจ๋อตง

นรีนุช ดำรงชัย ศึกษาและอธิบาย “แนวทางการดำเนินชีวิตของชนชั้นกลางขึ้นไปในชุมชนเมืองที่สอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่ความมั่นคงของมนุษย์ที่ยั่งยืน” เป็นการศึกษาแนวคิดเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับชีวิตประจำวันของชนชั้นกลาง

อภิรัฐ คำวัง มองความเคลื่อนไหวทางการเมืองระหว่างการเลือกตั้งโลกสภาในอินเดียใน “เทศกาลแห่งประชาธิปไตยในการเลือกตั้งสมาชิก ‘โลกสภา’ อินเดีย ค.ศ. 2019” ซึ่งมีผู้มีสิทธิกว่า 900 ล้านคนโดยมีความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองและฐานเสียงในรัฐต่าง ๆ ทำให้เห็นภาพรวมของการเลือกตั้งได้ชัดขึ้น

ส่วน นรุตม์ เจริญศรี  ได้เสนอบทวิจารณ์หนังสือ เรื่อง At Home Abroad: A Memoir of the Ford Foundation in Indonesia, 1953-1973 ชวนให้ขบคิดถึงบทบาทของมูลนิธิฟอร์ดในช่วงสงครามเย็นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งด้านหนึ่งสะท้อนบทบาทของสหรัฐอเมริกาผ่านการสร้างองค์ความรู้ทางวิชาการและมิติทางการเมืองที่ถูกร้อยรัดเอาไว้ด้วยกัน

 

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

เผยแพร่แล้ว: 12-10-2022

ฉบับเต็ม

บทความวิจัย

บทวิจารณ์หนังสือ