ปีที่ 46 ฉบับที่ 2 (2016): กรกฎาคม - ธันวาคม 2559

					ดู ปีที่ 46 ฉบับที่ 2 (2016): กรกฎาคม - ธันวาคม 2559

บทบรรณาธิการ

           ผณิตา ไชยศรนั้นได้ศึกษาเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิที่มหาสมุทรอินเดียในปี ค.ศ. 2004 จากมุมมองของปฏิบัติการบรรเทาภัยพิบัติโดยมุ่งไปที่สัปดาห์แรกของปฏิบัติการในจังหวัดพังงา พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิมากที่สุดในประเทศไทย โดยเป็นการประเมินจุดแข็งและจุดอ่อนของปฏิบัติการบรรเทาภัยพิบัติดังกล่าว

           ธีรพัฒน์ อังศุชวาลได้อภิปรายแนวความคิดเรื่อง “ประชาสังคม” ของอันโตนิโอ กรัมชี โดยนำไปวิเคราะห์เปรียบเทียบกับมุมมองแบบเสรีของแนวความคิดนี้ กล่าวคือ ธีรภัทรได้ชี้ให้เห็นว่า ในงานของกรัมชีนั้นประชาสังคมไม่ได้ขัดแย้งกับรัฐ แต่มีความสัมพันธ์แบบวิภาษวิธีระว่างประชาสังคมและรัฐ ซึ่งแสดงออกในแนวความคิดเรื่องความเป็นเจ้า

ในบทความของ รัฐศรัณย์ สิรีกัญจน์ได้ศึกษานิทรรศการต่างๆที่ว่าด้วยภูมิภาคนิยมและประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และเสนอว่านิทรรศการเหล่านี้อยู่ภายในกรอบคิดความเป็นเจ้าของโลกาภิวัตน์แบบเสรีนิยมใหม่ เขาเสนอความเป็นไปได้ของการผลิตสร้างองค์ความรู้ด้านการจัดแสดงและนำเสนอนิทรรศการ ที่จะช่วยให้เราสามารถเข้าใจภูมิภาคนิยมที่ไปพ้นแบบเสรีนิยมใหม่ได้ ดังที่ รัฐศรัณย์เหมือนจะสื่อว่า “ภูมิภาคนิยมรูปแบบอื่นนั้นทั้งเป็นไปได้และจำเป็น”

          บทความของ สังศิต พิริยะรังสรรค์ วิเคราะห์ว่าการลงโทษโดยสังคมทั้งทางบวกและทางลบสามารถทำงานควบคู่ไปกับมาตรการทางกฎหมายในการต่อสู้กับการคอร์รัปชั่นได้อย่างไร โดยสังศิตได้ศึกษาผ่านกรณีต่าง ๆ รวมไปถึงประเทศไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน และอียิปต์

           เอก ตั้งทรัพย์วัฒนา และ วีระ หวังสัจจะโชค ศึกษาการเมืองว่าด้วยการพัฒนาในโครงการพัฒนาสองโครงการ โครงการแรกได้แก่ เส้นทางน่าน-หลวงพระบาง ที่ถูกสร้างขึ้นภายใต้กรอบของแนวคิดการเชื่อมโยงกันในภูมิภาคเพื่อนำไปสู่การพัฒนาของไทยและลาว ส่วนอีกโครงการคือ โครงการจัดทำแผนการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำลำประโดงและวิถีชุมชน อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม โดยมุ่งเป้าไปยังการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ภายในบทความได้ศึกษาผลกระทบของโครงการดังกล่าวนี้ในชุมชนท้องถิ่นหลายๆด้านซึ่งนำไปสู่ข้อสรุปว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้นจำต้องอาศัยการมีส่วนร่วมและการตัดสินใจในพื้นที่

          ดาวราย ลิ่มส่ายหั้ว ตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดในช่วง อาหรับสปริง  (2010-12) การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองเกิดขึ้นได้แค่ในบางประเทศในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือเท่านั้น ดาวรายได้เปรียบเทียบกรณีของอียิปต์และอิหร่านโดยเสนอว่าเหตุผลสำคัญที่การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองเกิดขึ้นในอียิปต์และไม้เกิดขึ้นในอิหร่านนั้นเป็นเพราะผู้ประท้วงและการเคลื่อนไหวในอียิปต์สามารถดึงฝ่ายทหารที่ถูกส่งมาสลายผู้ชุมนุมให้เข้ามาสนับสนุนแทนได้

           สืบเนื่องมาจากความเสื่อมความเชื่อมั่นต่อตำรวจไทยของสาธารณชนจนนำไปสู่ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปจากภาคส่วนต่างๆ ในสังคม พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์ ได้เข้ามาศึกษาประเด็นนี้ในทางวิชาการโดยเน้นไปที่การปฏิรูประบบงานสอบสวนของตำรวจซึ่งเป็นเสมือนก้าวแรกของกระบวนการยุติธรรม

          เอเชียแปซิฟิกเป็นหนึ่งในไม่กี่ภูมิภาคในโลกที่มีทั้งประเทศมหาอำนาจและประเทศที่ก้าวขึ้นมามีอำนาจหลายประเทศ กล่าวอีกอย่างก็คือ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกดูจะเป็นภูมิภาคที่การแข่งขันระหว่างมหาอำนาจเพื่อสร้างเขตอิทธิพลสุกงอมมากที่สุดในศตวรรษที่ 21 ซึ่ง ณ ขณะนี้ประเทศใดจะก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าในภูมิภาค  ก็ยังเห็นได้ไม่ชัดเจน บทความของ กิตติ ประเสริฐสุขได้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงระหว่างญี่ปุ่นและอินเดียภายใต้บริบทภูมิรัฐศาสตร์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในภูมิภาค โดยกิตติเสนอว่าอินเดียและญี่ปุ่นกำลังกระชับความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงเพื่อที่จะถ่วงดุลอิทธิพลของจีนในภูมิภาคนี้

สรวิศ ชัยนาม

เผยแพร่แล้ว: 06-12-2022

ฉบับเต็ม

บทความวิจัย

บทวิจารณ์หนังสือ