ปีที่ 48 ฉบับที่ 1 (2018): มกราคม - มิถุนายน 2561

					ดู ปีที่ 48 ฉบับที่ 1 (2018): มกราคม - มิถุนายน 2561

บทบรรณาธิการ

 วารสารสังคมศาสตร์ฉบับนี้มีบทความ 8 บทความ ประกอบด้วยบทความของ วีระ สมบูรณ์ ที่มองตุลาการภิวัตน์ในฐานะส่วนหนึ่งของกระบวนการประกอบสร้างการจัดการปกครอง โดยแนวคิดและปฏิบัติการนี้เริ่มพัฒนาจากช่วงสิ้นสุดสงครามเย็น โดยผลของกระแสโลกาภิวัตน์ทำให้มิติระหว่างประเทศมีอิทธิพลต่อการจัดวางหลักการและแนวปฏิบัติของตุลาการภิวัตน์ทั่วโลก และมีมิติระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ปทัสถานระหว่างประเทศ เศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ และโลกาภิวัตน์ทางตุลาการ

บทความของ อภิรัฐ คำวัง เรื่อง “ที่พรมแดนระหว่างอนุภูมิภาคเอเชียใต้และอาเซียน: มองอินเดียเชื่อมต่อเมียนมาร์เพื่อ ‘มุ่งหน้าไปด้วยกัน” ศึกษาพรมแดนระหว่างอินเดียกับอาเซียน โดยศึกษาภาคสนามที่พรมแดนของอินเดีย โดยดูตลาดพรมแดนและความเปลี่ยนแปลง จะเห็นได้จากการที่อินเดียเตรียมเปิดประตูเชื่อมกับอาเซียนที่รัฐมณีปุระ แต่พรมแดนจุดอื่น ๆ ยังคงเปิดพื้นที่เฉพาะพ่อค้าท้องถิ่นกลุ่มชาติพันธุ์ โดยยังไม่ยกระดับเป็นพรมแดนนานาชาติ

ส่วน วัชรพล พุทธรักษา  ในบทความ “Big Society, Free Economy, and Strong State: Bonefeld’s Open Marxism and the Critique of Political Economy” ที่เสนอว่าแนวคิดโอเพ่นมาร์กซิสม์ของเวอร์เนอร์ โบเนเฟลด์มีความสำคัญและช่วยในการทำความเข้าใจเศรษฐกิจการเมืองร่วมสมัยได้ และทฤษฎีสำคัญของโบเนเฟลด์มีสามเรื่อง ได้แก่ แนวคิดเรื่อง “สังคมใหญ่” เศรษฐกิจเสรี และรัฐที่เข้มแข็ง โบเนเฟลด์ขับเน้นความสำคัญของแนวคิดดังกล่าวเพื่อมุ่งสร้างพื้นที่เชิงทฤษฎีที่รองรับ “ตัวแสดงที่เป็นมนุษย์ธรรมดา” และปฏิเสธมุมมองเกี่ยวกับสังคมเป็นกลไกและปฏิฐานนิยม ข้อเสนอหลักของโบเนเฟลด์ คือสังคมต้องเป็นองค์ประธานหลักของชีวิตทางสังคมของมนุษย์ ส่วนมนุษย์ต้องเป็นองค์ประธานหลักในการกำหนดความเป็นไปทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองของมนุษย์เอง การเข้าใจสังคมเป็นจุดเริ่มในการทำความเข้าใจระบบการเมืองเศรษฐกิจและรัฐ ซึ่งในความพยายามปลดปล่อยมนุษย์ออกจากความสัมพันธ์ทางสังคมแบบทุนนิยมเป็นหน้าที่ของมนุษย์ปุถุชนทั้งหลาย

บทความของ ศิริพงศ์ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา เรื่อง “การเผยแพร่ตัวตนด้วยการถ่ายทอดสดการฆ่าและความพยายามฆ่าตัวตายผ่านสื่อสังคม: มุมมองการวิเคราะห์แบบโครงสร้างและผู้กระทำการ” เป็นการวิเคราะห์ทั้งแบบโครงสร้างและผู้กระทำการ เพื่ออธิบายปรากฏการณ์การเผยแพร่ตัวตนด้วยการถ่ายทอดสดการฆ่าและความพยายามฆ่าตัวตายผ่านสื่อสังคม ซึ่งค้นพบว่าสื่อสังคมเป็นได้ทั้งช่องทางและพื้นที่ทางสังคมที่มีลักษณะเป็นสายสัมพันธ์แบบอ่อนทำให้ยากต่อการจัดรูปแบบความสัมพันธ์อย่างเป็นแบบแผน แต่ยังมีกฎเกณฑ์ที่ใช้ในการจัดระเบียบเหมือนสังคมปกติ อย่างไรก็ดีความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเกี่ยวกับสื่อสังคมทำให้โครงสร้างในสังคมเสมือนจริงเปิดโอกาสให้ผู้ใช้สื่อสังคมในฐานะผู้กระทำการสามารถมีปฏิสัมพันธ์โดยปราศจากข้อจำกัดด้านเวลาและสถานที่ รวมถึงเสรีภาพในการผลิตสร้างและการเผยแพร่ตัวตนผ่านการถ่ายทอดสดการฆ่า/พยายามตัวตาย

ชวิตรา ตันติมาลา ดุษฎี โยเหลา และจารุวรรณ ขำเพชร ในบทความ “อัตลักษณ์ของตลาดนัดวันศุกร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” ทำการศึกษาความหมายและคุณค่าของตลาดนัดวันศุกร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพแบบชาติพันธุ์วรรณนา เก็บข้อมูลแบบสังเกตอย่างมีส่วนร่วมและการสัมภาษณ์กึ่งมีโครงสร้าง เพื่ออธิบายการประกอบสร้างอัตลักษณ์ของตลาดนัดวันศุกร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ส่วนบทความของ กังสดาล เชาว์วัฒนกุล เรื่อง “สภาพและปัญหาการทำเกษตรปลอดภัยของเกษตรกรในจังหวัดราชบุรี” ศึกษาปัญหาและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการทำเกษตรปลอดภัยของเกษตรกรในจังหวัดราชบุรี ว่ามีความรู้เรื่องเกษตรปลอดภัยอยู่ในระดับใด ปัญหาของการขึ้นทะเบียนเกษตรปลอดภัย และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการทำเกษตรปลอดภัย เพื่อนำไปสู่การดำเนินนโยบายด้านเกษตรปลอดภัยในจังหวัดราชบุรีต่อไป

บทความของ เอกพลณัฐ ณัฐพัทธนันท์ เรื่อง “ยักษ์ที่เท้าทำด้วยดินเหนียว: บทวิจารณ์ของ Leo Strauss กับความง่อนแง่นขององค์ความรู้ในการวิจัยเชิงปริมาณ?” ตั้งคำถามถึงวิธีการหาคำตอบสังคมโดยการทำวิจัยเชิงปริมาณที่ใช้เทคนิคทางสถิติเป็นเครื่องมือในการทดสอบสมมติฐานของการวิจัย และอ้างหลักการแบบวิทยาศาสตร์ที่ใช้วิธีการเชิงปริมาณใช้ในการพรรณนากระบวนการและผลการศึกษาประเด็นทางสังคม เช่น  “ความเป็นกลาง” (neutrality) เรื่อง “ความเป็นภววิสัย” (objectivity) ซึ่งในที่สุดก็ไม่ได้ปลอดจากอคติ หรืออารมณ์ความรู้สึกของผู้วิจัย เขาตั้งคำถามท้าทายว่าถึงแม้จะได้คำตอบของการวิจัยเหล่านั้นออกมา แต่คำตอบเหล่านั้นก็เป็นได้เพียงแค่ “ความน่าจะเป็นทางสถิติ” เท่านั้น

ส่วนบทความของ เอกลักษณ์ ไชยภูมี เรื่อง “การปกครองตามธรรมชาติ: กฎเหล็กสามข้อของการปกครองแบบผสม” อธิบายกรอบแนวคิดเรื่องการปกครองตามธรรมชาติในฐานะที่เป็นฐานคิดของทฤษฎีการปกครองแบบผสมผ่าน “กฎเหล็กของการปกครองแบบผสม” ที่เกิดขึ้นจากเงื่อนไขเฉพาะและธรรมชาติที่แตกต่างกันขององค์ประกอบภายในของการปกครองแบบผสม

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

 

เผยแพร่แล้ว: 16-09-2022

ฉบับเต็ม

บทความวิจัย