ปีที่ 51 ฉบับที่ 2 (2021): กรกฎาคม - ธันวาคม 2564

					ดู ปีที่ 51 ฉบับที่ 2 (2021): กรกฎาคม - ธันวาคม 2564

บทบรรณาธิการ

 วารสารสังคมศาสตร์ฉบับนี้มีบทความครอบคลุมทั้งด้านทฤษฎีการเมือง การสถาปนาประชาธิปไตย การศึกษาอำนาจรัฐแบบอำนาจนิยมโดยพรรคคอมมิวนิสต์ ตลอดจนปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งยังมีบทความเกี่ยวกับแนวคิดทางการเมืองไทยในนโยบาย ประเด็นเรื่องศาสนากับการเมือง และปิดท้ายด้วยบทความวิจัยเกี่ยวกับผู้สูงอายุ

เริ่มจากบทความของ Soravis Jayanama (สรวิศ ชัยนาม) เรื่อง “Parasite and the Ideological Barriers to Emancipatory Politics”  ได้สำรวจอุดมการณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการสร้างสำนึกชนชั้นผ่านภาพยนตร์ของบง จุนโฮ ผู้กำกับชาวเกาหลี ซึ่งสร้างภาพยนตร์ที่น่าสนใจ สรวิศเลือกเรื่อง Parasite (2019), Snowpiecer (2013) , Okja (2017) มาเป็นสื่อในการอธิบายถึงการกล่อมเกลาสำนึกเพื่อให้เพิกเฉยและเป็นเงื่อนไขของความล้มเหลวในการสร้างสำนึกชนชั้นและเอกภาพทางชนชั้นที่เป็นหนึ่งเดียว

ส่วน นิธิ เนื่องจำนงค์ ได้ชี้ให้เห็นความยุ่งยากในการสร้างสรรค์ประชาธิปไตยให้เป็นปึกแผ่นในเกาหลีใต้ โดยชี้ให้เห็นปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จผ่านการควบคุมกองทัพโดยรัฐบาลพลเรือน ในบทความ “การควบคุมโดยพลเรือนและการสร้างความมั่นคงให้กับประชาธิปไตยในเกาหลีใต้: จากการสร้างความเป็นทหารอาชีพสู่การสร้างความเป็นพลเรือนในกองทัพ” ซึ่งชี้ให้เห็นถึงกระบวนการการปลดและโยกย้ายทหารการเมืองจนสามารถสร้างสภาวะความเป็นทหารอาชีพได้ ตลอดจนการทำให้กองทัพมีความเป็นพลเรือนมากขึ้น ผ่านการเพิ่มบุคลากรพลเรือนและส่งเสริมคุณค่าประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ทำให้กองทัพเกาหลีใต้ออกจากการแทรกแซงทางการเมืองในที่สุด

เช่นเดียวกัน ภายใต้คำถามเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับพรรคคอมมิวนิสต์จีนถูกสำรวจผ่านงานของ Attawat Assavanadda (อรรถวัตต์ อัศวนัดดา) ในบทความ “State Power and Chinese Authoritarian Resilience in the Reform Era: Coercion, Obstruction and Domination” ที่ผู้เขียนเสนอว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีขีดความสามารถในการสนองตอบต่อภัยคุกคามในสามมิติ ได้แก่ มิติการใช้กำลังบังคับและปราบปราม มิติตที่สองคือการกีดกันประเด็นที่อาจจะเป็นภัยต่อพรรคฯ ผ่านการควบคุมข่าวสารและการโฆษณาชวนเชื่อ มิติสุดท้ายคือการครอบงำทางเลือกของประชาชน เพื่อมิให้เกิดทางเลือกที่เป็นภัยคุกคามต่อผลประโยชน์ของพรรคคอมมิวนิสต์

ส่วนบทความของ พยัญชน์ เอี่ยมศิลป์ “ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ: มองผ่านภาวะผู้นำทหารในการยุติการสู้รบบ้านร่มเกล้า-บ่อแตน” ได้ชี้ให้เห็นถึงความซับซ้อนของสงครามที่บ้านร่มเกล้า ที่มีมูลเหตุจากเศรษฐกิจชายแดนและประเด็นสนธิสัญญาเขตแดนเดิม ทำให้ผู้นำกองทัพไทยต้องอาศัยสายสัมพันธ์ส่วนตัวเข้าไปช่วยเจรจา ประกอบกับบรรยากาศของสงครามเย็นที่คลายตัวลงทำให้การเจรจาหยุดยิงบรรลุผลในที่สุด

ในประเด็นด้านวาทกรรมการพัฒนา พัด ลวางกูร ได้สำรวจความคิดทางการเมืองไทยในนโยบายการพัฒนาผ่านตัวบทสำคัญคือคู่มือการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศผ่านโครงการไทยนิยมยั่งยืนของ รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งในบทความ “ความคิดทางการเมืองไทยในนโยบายการพัฒนา” ได้อธิบายว่าความคิดทางการเมืองไทยที่ปรากฏในคู่มือดังกล่าว ได้แก่ คุณค่าเรื่องประชาธิปไตยแบบไทย แนวคิดเรื่องการเลือกคนดี แนวคิดเรื่องรัฐอุปถัมภ์โดยมีประชาชนในฐานะผู้รับการอุปถัมภ์ โดยคาดหวังว่าจะสามารถสร้างความต่อเนื่องทางการเมืองและแสวงหาการยอมรับของประชาชนต่อรัฐบาล คสช. ตามแนวคิดแบบอำนาจนิยมที่เชื่อมมาจากอดีตได้

ด้าน สามารถ ทองเฝือ ได้อธิบายแนวคิดเรื่องอิสลามการเมืองว่าศาสนาอิสลามมีอิทธิพลต่อพัฒนาการทางการเมืองในมาเลเซีย ในบทความ “อิสลามการเมืองในมาเลเซีย” อธิบายว่ามีการใช้ศาสนาอิสลามเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดอนาคตและสร้างเอกลักษณ์ของชาติ

สมพงษ์ จิตระดับ และ นวพร สุนันท์ลิกานนท์ ศึกษาเรื่อง Node และบทบาทของแนวคิดและปฏิบัติการที่ทำให้เกิดการประสานงานระหว่างองค์กรทางสังคมจนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง ในบทความ  “Node: หน่วยประสานเครือข่ายงานด้านการพัฒนาสังคมในมุมมองทฤษฎีเครือข่าย-ผู้กระทำการ” ยังได้ขยายความถึงคุณลักษณะของ Node และความสัมพันธ์เชิงสัมพัทธ์ที่แนวคิดเรื่อง Node ทำให้เกิดการทำงานข้ามเครือข่าย

บทความสุดท้ายของ ปุณยวัจน์ ไตรจุฑากาญจน์ เรื่อง “ความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ: สถานการณ์ สาเหตุ และการรับมือ” ศึกษาปัญหาความรุนแรงต่อผู้สูงอายุในสังคมไทย โดยศึกษาในห้าพื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี เชียงใหม่ หนองบัวลำภู และสงขลา ซึ่งพบว่ามีความรุนแรงมาจากคนใกล้ชิดที่เกี่ยวข้องกับความตึงเครียดและมาจากบุคคลใกล้ชิด เช่น คู่สมรส ลูกหลาน ญาติพี่น้อง คนใกล้ชิด และเพื่อนบ้าน ทำให้ต้องวางแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยผ่านการให้คำปรึกษา ให้กำลังใจของทีมสหวิชาชีพและบุคคลใกล้ชิด

 

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

เผยแพร่แล้ว: 30-09-2022

ฉบับเต็ม

บทความวิจัย