Journal Information
ปีที่ 46 ฉบับที่ 1 (2016): มกราคม - มิถุนายน 2559
บทบรรณาธิการ
อันที่จริงผมคิดอยากจะเปลี่ยนชื่อบทความของ ชญาน์ทัต ศุภชลาศัย ให้เป็น “The L-Word in Thailand Crackdowns” เนื่องจากโดยปกติแล้วเรามักไม่ค่อยเห็นบทวิเคราะห์การเมืองไทยในมุมมองของลากอง (Jacques Lacan) สักเท่าไรนัก ชญาน์ทัตได้นำเสนอภาษาแบบใหม่ที่เปลี่ยนของเราในเรื่องการเมืองไทยอันนำไปสู่มุมมองการเมืองไทยที่แตกต่างออกไป สำหรับตัวผมแล้วนี่ถือได้ว่าเป็นก้าวแรกที่สำคัญยิ่ง และถือได้ว่าเป็นการท้าทายหรือแทรกแซงเพื่อนำไปสู่การถกเถียงและการวิพากษ์วิจารณ์ มากกว่าที่จะจบลงอยู่แค่ที่ตัวบทความนี้
ใน “การสร้างความเป็นพลเมืองของคาทอลิกในสังคมไทย” ชวลิต ตรียะประเสริฐ ศึกษาสภาวะความขัดแย้งและการกีดกันของชุมชนจินตกรรมของความเป็นพลเมืองไทย เช่นเดียวกับคอมมิวนิสต์ คนไทยคาทอลิกถูกกีดกันและมองว่าไม่ใช่คนไทย ชวลิตตั้งข้อสังเกตถึงอุปสรรคของชาวคาทอลิกที่จะได้รับการยอมรับว่าเป็นพลเมืองไทยและการที่ชาวคาทอลิกเหล่านี้ผ่านกระบวนการ “การทำให้เป็นไทย” เพื่อได้รับการยอมรับทางสังคม โดยผลของความอดกลั้นทางศาสนานี้ “คาทอลิกคนอื่น (Other)” ถูกทำให้ไม่มีอันตราย (Decaffeinated other) ซึ่งก็คือเป็นคนอื่นที่โดยเนื้อแท้แล้วก็เหมือนกับ “พวกเรา” นั่นเอง
บทความอีกสองชิ้นเป็นเรื่องอาเซียนและอาชญากรรมข้ามชาติ ชิ้นแรกคือ “อาชญากรรมข้ามชาติ:ภัยคุกคามความมั่นคงรูปแบบใหม่ต่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ชิตพล กาญจนกิจ ได้อธิบายว่า ทำไมอาชญากรรมข้ามชาติถึงเป็นประเด็นความมั่นคงแบบใหม่และแสดงให้เห็นถึงลักษณะโดยทั่วไปของอาชญากรรมข้ามชาติ ในการศึกษานี้ ชิตพลได้เสนอว่ารัฐยังคงเป็นตัวแสดงหลัก โดยเฉพาะในรูปแบบของการร่วมมือกับรัฐอื่นๆ
ส่วนบทความ “อาเซียนกับปัญหาอาชญากรรมทางทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” พฤดี หงุ่ยตระกูล นำเสนอประเด็นต่อจากจุดที่ชิตพลทิ้งเอาไว้โดยศึกษาลักษณะข้ามชาติของอาชญากรรมทางทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พฤดี เน้นไปที่การพัฒนาความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อจัดการอาชญากรรมทางทะเลและชี้ให้เห็นถึงข้อจำกัดของความร่วมมือ อาทิ ความไม่เชื่อใจกันระหว่างรัฐต่างๆ ในภูมิภาคสำหรับการแก้ปัญหาอาชญากรรมทางทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในระยะยาวนั้น พฤดีเสนอว่าต้องมุ่งไปที่การทำลายกำแพงทางเศรษฐกิจและสังคมที่สร้างและคงไว้ซึ่งการพัฒนาที่ไม่เท่าเทียมกันในภูมิภาค
ในบทความ “‘ทำไมจึงไม่ค่อยมีทฤษฏีเศรษฐกิจการเมืองจากฐานองค์ความรู้ทางวิชาการในโลกที่สาม?’: การครอบงำและการเลือกปฏิบัติทางวิชาการจากความรู้แบบสำนักยุโรปเป็นศูนย์กลาง” วีระ หวังสัจจะโชค ได้ตอบคำถามที่เสนอเอาไว้ในหัวข้อของบทความโดยนำเสนอว่า ความคิดที่ยึดเอายุโรปเป็นบทบรรณาธิการศูนย์กลาง อันมีนัยแสดงถึงจักรวรรดินิยม การเหยียดชาติพันธุ์ และความเหนือกว่าของคนผิวขาวนั้นเป็นองค์ประกอบสำคัญของการเกิดและการพัฒนาทฤษฎีของเศรษฐศาสตร์การเมืองทั้งในสายเสรีนิยมและมาร์กซิสต์ในช่วงศตวรรษที่ 18 และ 19 (ซึ่งดูเหมือนว่า วิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบอเมริกันก็มีประวัติความเป็นมาในลักษณะเดียวกัน) ดังนั้น ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองที่ไม่ได้เป็นตะวันตกจึงไม่ได้รับการพัฒนาตั้งแต่ต้น อย่างไรก็ตาม วีระเสนอว่าทฤษฎีเศรษฐศาสตร์การเมืองที่มีต้นกำเนิดมาจาก “การเมืองในชีวิตประจำวัน” กำลังท้าทายลักษณะที่ยึดเอายุโรปเป็นศูนย์กลางของเศรษฐศาสตร์การเมืองกระแสหลัก
ในบทความของ ชุติเดช เมธีชุติกุล ได้นำเสนอประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงของการกำหนดนโยบายต่างประเทศฝรั่งเศสในช่วงสงครามแอลจีเรีย (1954 - 62) โดยเสนอถึงการบรรจบกันของปัจจัยต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเมืองภายในประเทศที่นำไปสู่การตัดสินใจของฝรั่งเศสในสงครามแอลจีเรีย
บทความของ พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย ชี้ให้เห็นว่าหลักสุจริตไม่เพียงบังคับใช้กับกฎหมายเอกชนเท่านั้นแต่ยังใช้กับกฎหมายมหาชนด้วย ดังนั้นแล้ว พรสันต์เสนอว่าหลักสุจริตก็ควรพึงบังคับใช้กับรัฐธรรมนูญด้วยเช่นกันเพื่อนำมาซึ่งความยุติธรรมของสังคม
บทความของ สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ณัฐพร ไทยจงรักษ์ และจุฬาภรณ์ ขอบใจกลาง ศึกษาปัจจัยที่ส่งต่อการบรรลุถึงโครงการพัฒนาสู่ประชาคมอาเซียนของโรงเรียนต่างๆ ที่เข้าร่วมในประเทศไทย ซึ่งมุ่งเป้าหมายไปที่การส่งเสริมความเป็นพหุวัฒนธรรม ในบทความได้นำเสนอชุดของแนวทางต่างๆ ในการสนับสนุนส่งเสริมแนวความคิดพหุวัฒนธรรมสำหรับโรงเรียนทั้งในเมืองและต่างจังหวัด
สรวิศ ชัยนาม