Journal Information
ปีที่ 51 ฉบับที่ 1 (2021): มกราคม - มิถุนายน 2564
บทบรรณาธิการ
วารสารสังคมศาสตร์ฉบับนี้มีบทความ 8 ชิ้น ซึ่งมีความหลากหลายมุมมองทางวิชาการและสาขาความรู้ ในบทความของ Pisanu Sangiampongsa (พิษณุ เสงี่ยมพงษ์) เรื่อง “The Societal Sources of Public Policy: A Review of Concepts and Their Applications” อธิบายปัจจัยทางสังคมว่ามีผลต่อการกำหนดนโยบายสาธารณะอย่างไร เช่น ปัญหาสังคม ความขัดแย้งทางสังคม การแข่งขันระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ทั้งนี้พิษณุได้ชี้ให้เห็นว่าความคิดเห็นสาธารณะและผลประโยชน์สาธารณะซึ่งมีความแตกต่างกัน แต่ก็มีสถานะเป็นตัวการในการกำหนดนโยบายสาธารณะด้วยเช่นกัน
บทความของ ชญานุช จาตุรจินดา เรื่อง “AI กับการบริหารงานบุคคล” กล่าวถึง AI (Artificial Intelligence หรือปัญญาประดิษฐ์) ว่ามีศักยภาพในการนำมาใช้กับการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ตั้งแต่กระบวนการบริหาร การคัดกรองผู้สมัครจนถึงรับเข้างาน ตลอดจนการประเมินเพื่อเลื่อนขั้น หรือเงินเดือน แต่ AI ก็มีขีดจำกัดที่ขาดทักษะด้านอารมณ์แบบมนุษย์ กล่าวได้ว่า AI มีความสำคัญมากขึ้น แต่ก็มีบางอย่างที่ไม่สามารถใช้การแทนมนุษย์ได้
ชัยยนต์ ประดิษฐศิลป์, ชัยณรงค์ เครือนวน และ จิตรา สมบัติรัตนานันท์ ในบทความ “การสำรวจเชิงวิพากษ์เกี่ยวกับองค์ความรู้ด้านการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นในประเทศไทย” ทำการศึกษาสถานภาพและวิพากษ์องค์ความรู้ทางด้านทฤษฎีเกี่ยวกับการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น พบว่าต่างมีจุดแข็งและจุดอ่อนทั้ง 5 แนวคิด ได้แก่ แนวคิดท้องถิ่นนิยมกระแสหลัก แนวคิดท้องถิ่นนิยมแบบใหม่ แนวคิดท้องถิ่นนิยมทวนกระแส แนวคิดทฤษฎีการเลือกสาธารณะ และแนวคิดระดมมวลชนมีส่วนร่วม
บทความ “การศึกษาวิจัยกลไกการบริหารจัดการสาธารณภัยในระดับพื้นที่” โดย ศิริรักษ์ สิงหเสม, วสันต์ เหลืองประภัสร์ และ ภัทรวุฒิ เฉยศิริ ศึกษาปัญหากลไกการบริหารจัดการสาธารณภัยใน ระดับพื้นที่และได้เสนอตัวแบบการบริหารจัดการที่เหมาะสมจากกรณีศึกษา 8 จังหวัด
ส่วนในบทความของ ม.ล.พินิตพันธุ์ บริพัตร เรื่อง “มิติระหว่างประเทศของกระบวนการปฏิรูปทางการเมือง และเศรษฐกิจของเมียนมา (ค.ศ. 2007-2015)” ได้ศึกษามิติระหว่างประเทศในการปฏิรูปการเมือง และเศรษฐกิจของเมียนมาใน 3 ด้าน คือ ด้านการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การพัฒนาระบบอภิบาลประชาธิปไตย และกระบวนการสันติภาพและการเจรจาปรองดอง ทั้งยังศึกษาบทบาทของตัวแสดงภายนอกและ บริบทการเมืองระหว่างประเทศ ผ่านแนวคิดเรื่องกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยและ การสถาปนาประชาธิปไตย ผลการศึกษาชี้ว่าปัจจัยตัวแสดงภายนอกมีบทบาทอย่างจำกัด ในการพัฒนาประชาธิปไตยเมียนมา เนื่องจากรัฐบาลและกองทัพยังคงครอบงำการเมืองอยู่ แต่ก็มีความสำคัญต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในอนาคต
“Morgenthau’s and Bull’s Conceptions of International Morality: Similarities, Differences and Implications” ของ Muninthon Wattanayakorn (มุนินทร วัฒนายากร) ศึกษาแนวคิดว่าด้วย ศีลธรรมระหว่างประเทศของ Morgenthau และ Bull ซึ่งเป็นนักวิชาการคนสำคัญในการศึกษาการเมือง ระหว่างประเทศ ได้ชี้ให้เห็นว่ามิติทางศีลธรรมของ Bull คับแคบกว่า Morgenthau ซึ่งเปิดพื้นที่ให้กับมิติทางสิทธิมนุษยชนมากกว่า
บทความ “ความเชื่อเรื่องนัตกับการเมืองวัฒนธรรม: พหุวัฒนธรรมท่ามกลางกระแสความเป็นเมืองในมัณฑะเลย์” ของ กฤติธี ศรีเกตุ ศึกษาความเชื่อเรื่องผีนัตที่เป็นเป้าหมายของการควบคุมจัดการโดยฝ่ายผู้ปกครองมาตลอด แต่ก็เป็นพื้นที่พหุวัฒนธรรมที่มี การต่อรองประนีประนอมเช่นกัน
บทความ “ความเชื่อในวิทยาศาสตร์กับวิทยาศาสตร์ในความเชื่อ: ความเป็นไปของสภาพอากาศกับการปะทะกันของอำนาจในคำพยากรณ์” ของ วิสุทธิ์ เวชวราภรณ์ ทำความเข้าใจ ปรากฏการณ์ที่ผู้ค้าในตลาดนัดแห่งหนึ่งที่เชื่อถือคำพยากรณ์อากาศจากคนทรงเจ้ามากกว่าพยากรณ์อา กาศของทางรัฐบาลว่าเป็นวิธีการต่อรองกับอำนาจทางการที่ครอบทับโอกาสในการดำเนินกิจกรรมทาง เศรษฐกิจของพวกเขา
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ