ปีที่ 48 ฉบับที่ 2 (2018): กรกฎาคม - ธันวาคม 2561

					ดู ปีที่ 48 ฉบับที่ 2 (2018): กรกฎาคม - ธันวาคม 2561

บทบรรณาธิการ

วารสารสังคมศาสตร์ฉบับนี้มีบทความ 8 บทความ ประกอบด้วยบทความ “การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยเปรียบเทียบ: แง่คิดต่อความล้มเหลวในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยของไทย” ของสิริพรรณ นกสวน สวัสดี ที่ศึกษาเพื่ออธิบายและเปรียบเทียบปรากฏการณ์ของความล้มเหลวในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลกกับประเทศไทย

บทความของธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ เรื่อง “การศึกษาทางการเมืองเพื่อสร้างความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย” ทำการศึกษาแนวทางการสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย

ส่วน เอกลักษณ์ ไชยภูมี ในบทความ “จากปฐมบทประชาธิปไตยสู่ทางสองแพร่งของเสรีประชาธิปไตย: เส้นทางของ‘ประชาธิปไตย’ในตะวันตก” ศึกษาพัฒนาการของความหมายของประชาธิปไตยในโลกตะวันตกที่เปลี่ยนแปลงและมีนัยสำคัญต่อการสร้างความหมายเชิงบวกให้กับประชาธิปไตยแบบตัวแทน

บทความของกรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์ “ประวัติศาสตร์และการเมืองของ ‘พวกขี้แพ้’: การครอบงำ อำนาจ และการต่อต้านในทัศนะของเจมส์ ซี สก็อตต์” ได้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของการศึกษาเรื่องชนชั้นล่างและชาวป่าที่ไร้รัฐว่าสามารถสำแดงการต่อต้านการครอบงำของรัฐอย่างไรและเทคนิคการต่อต้านนั้นไม่เพียงการตอบโต้อย่างไร้ความหมาย แต่เป็นการตอบโต้อย่างมีนัยสำคัญทางการเมืองของบรรดาคนที่ถูกตราหน้าว่าเป็นพวกขี้แพ้ ซึ่งงานของสก็อตต์ยังครอบคลุมถึงความเป็นไปได้ในการปลดปล่อยตัวเองของมวลชนผู้ไร้อำนาจและพ่ายแพ้มาตลอด

ในบทความ “บทบาทของสหรัฐอเมริกาในฐานะจักรวรรดิที่ไตร่ตรองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: ความต่อเนื่องและเปลี่ยนแปลงในช่วงรัฐบาลโอบามา ค.ศ. 2009-2016” โดย กัลยา เจริญยิ่ง อธิบายบทบาทของสหรัฐอเมริกาว่าเป็นจักรวรรดิที่ไม่ใช้อำนาจในมิติแข็งกร้าวทางการทหารแต่อย่างเดียว แต่มีการปรับตัวมาโดยตลอดและมีการแผ่แสนยานุภาพ พร้อม ๆ กับการรักษาฐานอำนาจการเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในยุครัฐบาลโอบามานั้นเป็นจักรวรรดิที่ไตร่ตรอง (reflexive empire) กล่าวคือมีการใช้อำนาจอัจฉริยะเพื่อสร้างทัศนคติและความยินยอมสมัครใจเข้าร่วมจักรวรรดิที่มีสหรัฐเป็นผู้นำในภูมิภาค

บทความ “การเผาป่า และหมอกควันข้ามแดน: กรณีศึกษาอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันในประเทศอินโดนีเซีย” ของ พรรณชฎา ศิริวรรณบุศย์ และภูมิ มูลศิลป์ ได้ชี้ให้เห็นปัญหาการเผาป่าและหมอกควันซึ่งไม่ใช่ปัญหาสิ่งแวดล้อมเฉพาะที่ภายในรัฐ แต่มีมิติความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับปัญหาความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ที่ทำให้ปัญหามีความซับซ้อนและต้องการเสนอแนวทางแก้ไขเชิงนโยบายต่อประเทศไทยและภูมิภาคเพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม

สยุมพร ฉันทสิทธิพร ในบทความ “ความชอบธรรมและการล้มล้างทรราช มุมมองของลัทธิขงจื่อในประวัติศาสตร์จีน” ศึกษาแนวคิดเรื่องความชอบธรรมตามสำนักขงจื่อว่าอาณัติแห่งฟ้ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความชอบธรรมทั้งในการดำรงอยู่ในอำนาจ แต่ก็เป็นช่องทางของการล้มล้างความชอบธรรมของอำนาจเช่นกัน

ส่วนบทความ “การพัฒนาการท่องเที่ยวตลาดน้ำอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานของอัตลักษณ์และการมีส่วนร่วมของชุมชน: กรณีศึกษาตลาดน้ำดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี” ของ ธีราพร ทองปัญญา ชี้ให้เห็นอัตลักษณ์ของตลาดน้ำดำเนินสะดวกที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ขณะเดียวกันก็มีความต้องการของผู้ประกอบการ นักท่องเที่ยวและเจ้าหน้าที่รัฐก็มีความต้องการที่แตกต่างกัน ผู้วิจัยจึงเสนอแนวทางการพัฒนาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

เผยแพร่แล้ว: 15-09-2022

ฉบับเต็ม

บทความวิจัย