หัวหน้ากองบรรณาธิการ : รศ.ดร.ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์
(Chief Editor: Assoc.Prof.Dr. Thanapan Laiprakobsup)
บรรณาธิการบริหาร : ผศ.ดร.สุธรรมา ปริพนธ์เอื้อสกุล
(Managing Editor: Assist.Prof. Dr.Suthamma Paripontueasakul)
บทบรรณาธิการ
วารสารสังคมศาสตร์ฉบับนี้เริ่มจากบทความของ อภิชาต สถิตนิรามัย เรื่อง “คนชั้นกลางกรุงเทพฯ ผู้ไม่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยกับทฤษฎีการทำให้เป็นสมัยใหม่ (Modernization Theory)” ซึ่งชวนถกเถียงและตั้งคำถามต่อทัศนคติของคนชั้นกลางในเขตกรุงเทพมหานคร โดยเชื่อมโยงกับพลวัตและบทบาทของคนชั้นกลาง
ส่วน ชาย ไชยชิต ในบทความ เรื่อง “ความคลุมเครือของแนวคิดการแบ่งแยกอำนาจในงานศึกษาการละเมิดอำนาจรัฐสภา: กรณีศึกษางานวิจัย เรื่อง ‘แนวคิดและหลักการว่าด้วยการละเมิดอำนาจรัฐสภา’ ของ พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย” เป็นการตั้งคำถามต่อผลงานวิจัยที่เสนอให้มีการพิจารณาบทบาทของรัฐสภาในฐานะองค์กรสูงสุดที่ยึดโยงกับประชาชนผู้เป็นอำนาจอธิปไตย แต่บทความตั้งคำถามต่อความคิดดังกล่าวและพยายามอธิบายโดยเสนอว่า ทิศทางขององค์กรใช้อำนาจนั้นมีแนวคิดแตกต่างกันและมีแนวโน้มเป็นอิสระจากกันมากขึ้น
บทความของ อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ และ สุพัฒน์ วงศ์สุขุมอมร เรื่อง “ความคาดหวังว่าผู้สมัครจะชนะเลือกตั้งเป็นตัวกำกับความสัมพันธ์ระหว่างความเป็นตัวแทนความคิดทางการเมืองและข้อตัดสินใจเลือก” เป็นการศึกษาการตัดสินใจเลือกลงคะแนนกับผู้สมัครลงรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใน ปี พ.ศ. 2554 จากการสำรวจของสถาบันพระปกเกล้าและสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยชี้ว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีแนวโน้มจะลงคะแนนให้กับผู้สมัครที่ “มีโอกาสชนะ” โดยคำนึงถึงกลยุทธ์การสื่อสารทางการเมืองที่มีประสิทธิภาพด้วย
ในบทความของ นญา พราหมหันต์ และ ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ เรื่อง “อิสรภาพจากมโนทัศน์ทายาทความรุนแรง” ได้ชี้ให้เห็นว่า ถึงแม้ว่ากระบวนการสร้างมโนทัศน์ความรุนแรงจะกระทำผ่านความรุนแรงในวัยเด็ก แต่มนุษย์สามารถปลดปล่อยตัวเองจากมโนทัศน์ดังกล่าวและมีอิสระจากโครงครอบในมโนทัศน์ดังกล่าวได้
สัญญา เคณาภูมิ ในบทความเรื่อง “ความเป็นหุ้นส่วนทางการเมือง” อธิบายหลักคิดในการเป็นหุ้นส่วนทางการเมืองว่ามีบทบาทสำคัญในการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมือง
ฐิติเทพ สิทธิยศ ในบทความเรื่อง “วิวัฒนาการของความร่วมมือในเกม Prisoner’s Dilemma” เป็นความพยายามอธิบายแนวคิดสำคัญในทฤษฎีเกมว่าพฤติกรรมของคนจะมีการร่วมมือหรือหักหลังกันผ่านการทดสอบในทฤษฎีเกมอย่างไรเพื่อนำผลไปย้ำเตือนการวางนโยบายว่าควรตระหนักถึงความแตกต่างในพฤติกรรมการตัดสินใจทางนโยบาย
บทความของ ชญาน์ทัต ศุภชลาศัย เรื่อง “Under Drone Attacks: Lacan and Trauma in International Politics” พยายามทำความเข้าใจความรุนแรงโดยรัฐและบาดแผลทางใจของคนผ่านวิธีคิดของลาก็อง
บทความชิ้นสุดท้ายโดย ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก เรื่อง “Hydroelectricity Generation and the Dynamics of India-Bhutan Relations” ที่ได้ให้ภาพของความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับภูฏานภายหลังการทบทวนสนธิสัญญาพันธมิตรใน พ.ศ. 2550 ซึ่งนับว่าเป็นสัมพันธภาพที่เปลี่ยนไปและมีลักษณะพิเศษที่ภูฏานมีต่ออินเดีย แต่ก็ทำให้ภูฏานต้องพึ่งพาเศรษฐกิจและการลงทุนจากอินเดีย ขณะที่อินเดียมีความมั่นคงด้านพลังงานมากขึ้น
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
Chulalongkorn University Journal of Social Sciences (CUJSS) is the official publication of the Faculty of Political Science, Chulalongkorn University | ISSN: 2985-1297 (Print), eISSN: 2985-1386 (Online) | Responsible editors: Assist.Prof. Pandit Chanrochanakit, PhD.| This journal is published under the terms of the Creative Commons Attribution 4.0 International (CC-BY-NC-ND 4.0) by Faculty of Political Science, , Chulalongkorn University, THAILAND