ปีที่ 53 ฉบับที่ 1 (2023): มกราคม - มิถุนายน 2566

cover-vol53no1

บทบรรณาธิการ

วารสารสังคมศาสตร์ ปีที่ 53 ฉบับที่ 1 (เดือนมกราคม – มิถุนายน 2566) ประกอบด้วย 8 บทความ ดังนี้

บทความ “Revisiting the Geography of Globalisation in the Covid-19 Pandemic using Risk Theory” โดย ดร.กุลพธู ศักดิ์วิทย์ ใช้แนวความคิด risk society ของ Ulrich Beck มาวิเคราะห์ภูมิศาสตร์ของโลกาภิวัฒน์ในระหว่างโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งกุลพธูโต้ว่าในระหว่างโรคระบาดทำให้เกิดการพึ่งพิงด้านความรู้และวัคซีน การพึ่งพาระหว่างภูมิภาคและภาคพื้นยุโรป ตลอดจนการปะทะประสานระหว่างการพึ่งพิงระดับโลกกับการพึ่งพิงในระดับนานาชาติผ่านกลไก COVAX แต่กุลพธูยังเห็นว่ารัฐชาติมีบทบาทสำคัญยิ่งในโลกที่กำลังมีความเสี่ยงนี้

บทความ “องค์การการค้าโลกกับบทบาทในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม" โดย ผศ. วิลาสินี วดีศิริศักดิ์ และ นิศาชล พรหมรินทร์ ศึกษามาตรการด้านสิ่งแวดล้อมขององค์การการค้าโลกในการพิทักษ์รักษาสิ่งแวดล้อม และผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว ตลอดจนผลสำเร็จของการบูรณาการมาตรการขององค์การการค้าโลก แม้ผลการศึกษาจะยังเห็นข้อบกพร่องต่างๆ แต่ก็ไม่ถือว่าประสบความล้มเหลวและยังมีความพยายามที่เป็นรูปธรรมขององค์การการค้าโลกในการดำเนินการตามมาตรการเหล่านั้นอยู่

บทความ “การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เมืองรอง: กรณีศึกษากลุ่มจังหวัดอีสานใต้ ยโสธร ศรีสะเกษ และอำนาจเจริญ” โดย ศ. ดร.ปังปอนด์ รักอำนวยกิจ และพิชยารัชต์ กิติวุฒิศักย์ มุ่งเสนอกรอบแนวคิดและแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์โดยการศึกษาเชิงคุณภาพ ผลการศึกษาพบว่าบรรดาเมืองในกลุ่มอีสานใต้ควรต้องพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวและทดลองกิจกรรมการท่องเที่ยวอย่างมีส่วนร่วมเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและเข้าถึงอัตลักษณ์และทรัพยากรของแต่ละจังหวัด

ส่วนบทความ “การประกอบสร้างภาพลักษณ์ของโรงเรียนมัธยมศึกษาในนโยบายการรับนักเรียนเข้าเรียนของสำนักงานคณะ กรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน: ความเหลื่อมล้ำในคราบของการจัดสรรเพื่อความเป็นธรรม” ของ ดร.วงอร พัวพันสวัสดิ์ ใช้การวิเคราะห์นโยบายเชิงตีความ (Interpretative Policy Analysis) การวิเคราะห์กรอบการจำแนกแยกแยะ (Category Analysis) และการประกอบสร้างกลุ่มเป้าหมายของนโยบาย (Social Construction of target population) เพื่อทำความเข้าใจการประกอบสร้างภาพลักษณ์และผลของการประกอบสร้างภาพลักษณ์โรงเรียนอัตราแข่งขันสูงกับโรงเรียนทั่วไปว่ามีผลส่งเสริม แก้ไขหรือซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาอย่างไร

บทความ “เศรษฐกิจพอเพียงกรอบคิดการพัฒนาชุมชนชาติพันธุ์ของรัฐไทย การวิพากษ์ความเปลี่ยนแปลง วิถีชีวิต กิจกรรมทางเศรษฐกิจ บริบททางสังคมและชุมชนของชนเผ่าในบริเวณศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอย จังหวัดเชียงใหม่” ของ วสันต์ ปวนปันวงศ์ ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหนองหอยกับชุมชนชนเผ่าบริเวณดังกล่าวพบว่าการนำนโยบายรัฐตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงจากส่วนกลางเข้าสู่พื้นที่ชายขอบเป็นความสัมพันธ์เชิงเกื้อหนุนมากกว่าการคุกคามและบังคับ

บทความ “การเมืองของชนชั้นนำในเวียดนามกับสิ่งท้าทายใหม่ในโลกปั่นป่วน” โดย ดร.มุกดา ประทีปวัฒนะวงศ์ และสุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ศึกษาการเมืองของชนชั้นนำในเวียดนามที่ได้รับการค้ำยันสองชุดได้แก่ ความชอบธรรมทางอุดมการณ์ที่กล่าวถึงการปลดปล่อยตัวเองจากอาณานิคมฝรั่งเศสและเปลี่ยนเป็นอำนาจรวมศูนย์โดยพรรคคอมมิวนิสต์ และความชอบธรรมผ่านการปฏิรูปโด่ยเหมยในปี 1986 ซึ่งทั้งสองใช้แนวคิดของ Huntington ที่มองว่าความสำเร็จทางเศรษฐกิจจะนำมาซึ่งข้อเรียกร้องประชาธิปไตยเพราะกลุ่มคนที่มั่งคั่งจะกลายเป็นกลุ่มกดดันทางการเมืองทีมีพลัง ผลการศึกษาพบว่าแม้จะเกิดชนชั้นนำใหม่ในเวียดนามแต่ก็ไม่ได้ท้าทายอำนาจนำของพรรคคอมมิวนิสต์โดยตรง เพราะพรรคคอมมิวนิสต์ไม่ได้เป็นปรปักษ์หรืออุปสรรคในการสะสมทุน แต่สิ่งที่ท้าทายอำนาจพรรคคอมมิวนิสต์ก็คือกลุ่มคนที่ละเลยหรือพลาดโอกาสในการพัฒนาซึ่งสามารถใช้เครื่องมือใหม่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในการแสดงออกและเรียกร้องสิทธิทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ต้องหาทางตอบโต้ หรือกำจัดในที่สุด

บทความ “ประธานาธิบดีอินเดีย : พหุลักษณ์และปณิธาน” ของ อภิรัฐ คำวัง วิเคราะห์สังคมพหุลักษณ์และปณิธานผ่านตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งเขาเห็นว่าการคัดเลือกผู้สมัครประธานาธิบดีกระทำผ่านพรรคการเมืองและพันธมิตรเพื่อหาผู้เหมาะสม และมีความโน้มเอียงในการตัดสินใจตามคณะเลือกตั้งของพรรค และสุดท้ายบริบททางสังคมมีส่วนกำหนดอัตลักษณ์ของบุคคลสำคัญอย่างประธานาธิบดีกลายมาเป็นต้นแบบปณิธานของสังคมได้

บทความสุดท้าย “การวิเคราะห์เครือข่ายนโยบายในการพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียวในเขตกรุงเทพมหานคร” ของ แพรพลอย วัฒนะโชติ และ ผศ. ดร. ปรีชญาณ์ นักฟ้อน ศึกษาบทบาทและความสัมพันธ์ระหว่างตัวแสดงในเครือข่ายนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียวในเขตกรุงเทพมหานคร โดยการวิจัยเชิงคุณภาพ ผลการศึกษาพบว่ากรุงเทพมหานครยังเป็นตัวแสดงหลักเนื่องจากมีอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ และมีการใช้แนวคิดการบริหารสาธารณะแนวใหม่ที่พบว่ามีความสัมพันธ์ในเชิงบูรณาการกับหน่วยงานภายในและสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือ อีกทั้งยังมีความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นโดยอิสระจากกรุงเทพมหานครที่มาจากการพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียวอีกด้วย

บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ

เผยแพร่แล้ว: 15-06-2023

ฉบับเต็ม

บทบรรณาธิการ

บทความปริทัศน์

บทความวิจัย