Journal Information
ปีที่ 54 ฉบับที่ 2 (2024): กรกฏาคม - ธันวาคม 2567
บทบรรณาธิการ
บทความในวารสารสังคมศาสตร์ฉบับนี้ยังคงลักษณะที่สำคัญของวารสารสังคมศาสตร์ คือ ความหลากหลายขององค์ความรู้ทางสังคมศาสตร์ซึ่งเป็นลักษณะที่สำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ และที่เพิ่มเติมในฉบับนี้คือ การให้ความสำคัญกับการเมืองในสังคม (Societal Politics) กับการเมืองในการบริหาร (Administrative Politics) กล่าวคือ บทความส่วนหนึ่งมุ่งวิเคราะห์การเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีผลกระทบต่อการเมืองที่เป็นทางการ เช่น รูปแบบการประท้วง บทความของ เสกสิทธิ์ แย้มสงวนศักดิ์ ชื่อ พลังแห่งการอดอาหารประท้วง: การอดอาหารประท้วงทำงานอย่างไร? วิเคราะห์รูปแบบการประท้วงด้วยการอดอาหารซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่สำคัญในการประท้วงในหลายประเทศ บทความเสนอว่า การอดอาหารประท้วงมีกลไกการทำงานที่สำคัญได้แก่ การระดมความสนใจในการสื่อสาร, การระดมการสนับสนุนและความเห็นอกเห็นใจ, การบีบบังคับ, และการเบี่ยงเบนสถานะความรับผิด ซึ่งส่งผลกระทบต่อการรับรู้ของการเมืองและสังคมได้ บทความของ กนกรัตน์ เลิศชูสกุล ชื่อ ผลกระทบ ผลสะเทือน และสิ่งที่ตามมาขบวนการเคลื่อนไหวคนรุ่นใหม่ปี 2563-2564 ต่อการเมืองและสังคมไทย ชวนมองย้อนให้เห็นผลกระทบของการชุมนุมประท้วงของคนรุ่นใหม่ในปี 2563-2564 ต่อการเมืองที่เป็นทางการและสังคมไทยในภาพรวม โดยผู้เขียนชี้ให้เห็นว่า การประท้วงของคนรุ่นใหม่ส่งผลต่อการเมืองและสังคมใน 5 มิติ คือ 1) การสร้างพลเมืองหนุ่มสาวที่มีความตื่นตัว 2) ความตื่นตัวอย่างต่อเนื่องของแกนนำเก่าและการสร้างแกนนำการเคลื่อนไหวทางการเมืองรุ่นใหม่ 3) ความสำเร็จในการผลักดันแนวคิดเสรีนิยมให้กลายเป็นแนวคิดกระแสหลัก 4) ความสำเร็จในการสร้างความเป็นสถาบันให้กับพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ และ 5) การเปลี่ยนแปลงด้านกฎหมายและนโยบายในระยะยาว บทความของ มรกตวงศ์ ภูมิพลับ ชื่อ การเมืองของขบวนการนักศึกษาเวียดนามใต้: ชาตินิยมอันหลากหลายในยุคสงครามเย็น วิเคราะห์การเมืองของขบวนการนักศึกษาในเวียดนามใต้ในยุคสงครามเย็น และชาตินิยมที่ซับซ้อนและลื่นไหลจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมของนักศึกษา ด้วยมุมมองทางประวัติศาสตร์ ผู้เขียนพบว่า บริบทของระดับปัญหาทางการเมืองภายใน สภาวะสงครามที่เพิ่มความรุนแรงมากขึ้น และการเปิดเสรีเรื่องการศึกษาในช่วงนั้น เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาในเวียดนามใต้ ซึ่งสามารถนำมาเป็นกรอบในการเปรียบเทียบกับบทบาทของนิสิตนักศึกษาในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี และบทความของ ปิยะพร ตันณีกุล และ วชิรวิชญ์ อิทธิธนาศุภวิชญ์ ชื่อ นโยบายและการสร้างเครือข่ายลดความรุนแรงจากอาวุธปืน วิเคราะห์รูปแบบของการสร้างเครือข่ายลดความรุนแรงจากอาวุธปืนและการกำหนดแนวนโยบายการลดความรุนแรงจากอาวุธปืน โดยพบว่า การสร้างเครือข่ายและการกำหนดนโยบายมาจากฐานชุมชนเป็นสำคัญและการสร้าง “ธรรมนูญชุมชนลดความรุนแรงจากอาวุธปืน”
ส่วนบทความของ วรากร วิมุตติไชย และ ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ ชื่อ การโอบรับเดธทิวิตี: ว่าด้วยการสำรวจภูมิทัศน์ความตายผ่านกิจกรรมในบริบทกรุงเทพร่วมสมัย สำรวจปรากฏารณ์การโอบรับกิจกรรมเรื่องตายในบริบทของสังคมเมืองสมัยใหม่ของคนเมืองที่จะเปลี่ยนภูมิทัศน์ของความตายด้วยการประกอบสร้างความหมายใหม่ผ่านตัวแสดง คือ เทคโนโลยีดิจิทัล การทำให้เป็นสาธารณะ และการทำความตายให้เป็นกิจกรรมมากขึ้น ทั้งนี้ การเปิดกว้างและการมีส่วนร่วมทำให้เดธทิวิตีกลายเป็นหนึ่งในกระบวนการเรียนรู้เรื่องตายของสังคมสมัยใหม่ ส่วนบทความของ สุทธิชัย รักจันทร์ ชื่อ การแปรเปลี่ยนทุนทางเศรษฐกิจ -วัฒนธรรมสู่ทุนทางการเมือง: กรณีศึกษากีฬาวัวชนในจังหวัดพัทลุง อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับวัฒนธรรมท้องถิ่น โดยยกกรณีศึกษากีฬาวัวชนในภาคใต้ ในการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ดังกล่าว นัยยะที่สำคัญคือ ผสานอำนาจผ่านอำนาจทางสังคมเข้าไปสานสัมพันธ์เพื่อจัดให้การแข่งกีฬาชนวัว ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ที่มีชื่อเสียง น่าเคารพ น่าเชื่อถือ และความไว้วางใจส่งผลให้เกิดผู้นำบารมีท้องถิ่น แล้วนักการเมืองท้องถิ่นพัทลุงใช้ทุนทางการเมืองผสานระหว่างทุนวัฒนธรรมและทุนทางเศรษฐกิจมาใช้เป็นประโยชน์ต่อการรักษาฐานเสียงโดยอ้อมกับประชาชนจำนวนมากที่เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
ในขณะที่ บทความอีกกลุ่มมุ่งวิเคราะห์ผลกระทบของกฎระเบียบและกระบวนการในการบริหารคนและองค์กรที่มีผลกระทบต่อสังคมในภาพรวม บทความของ สุรพล ศรีวิทยา ชื่อ การบังคับใช้กฎหมายไทยตามพันธกรณีภายใต้ความตกลงอาเซียนทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยศึกษาประวัติพัฒนาการแนวคิดและหลักพื้นฐานของพันธกรณีภายใต้ความตกลงอาเซียนทางด้านสิ่งแวดล้อมในประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน โดยพบว่า ในส่วนของประเทศไทยได้ดำเนินการปฏิบัติตามความตกลงอาเซียนทางด้านสิ่งแวดล้อมในระดับภูมิภาค และการปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้ความความร่วมมืออาเซียนทางด้านสิ่งแวดล้อมและความตกลงสิ่งแวดล้อมพหุภาคี (MEAs) ส่วนบทความของ พิมพ์สิริ อรุณศรี ชื่อ การศึกษาการเรียนรู้ของผู้เข้าชมคนไทยในพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ เป็นการศึกษาระดับการมีปฏิสัมพันธ์กับนิทรรศการวิทยาศาสตร์ของผู้เข้าชมชาวไทย พร้อมทั้งปัจจัยบริบทที่มีผลต่อการมีปฏิสัมพันธ์กับสื่อการเรียนรู้ในนิทรรศการวิทยาศาสตร์ โดยพบว่า เข้าชมกลุ่มผู้ปกครองและกลุ่มบุตรหลานส่วนใหญ่มีระดับการปฏิสัมพันธ์ต่อนิทรรศการอยู่ที่ระดับเปลี่ยนผ่านไปสู่ปฏิสัมพันธ์ที่ลึกขึ้น (Transitioning behavior) ถึงระดับปฏิสัมพันธ์ขั้นลึก (Breakthrough behavior) อย่างไรก็ดี ต้องเพิ่มเติมเรื่องสื่อสารวิทยาศาสตร์ให้ผู้เข้าชมเข้าใจการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์และความเกี่ยวข้องของวิทยาศาสตร์กับชีวิตประจำวันของตน
สุดท้ายนี้ ในนามของกองบรรณาธิการ ผมขอขอบพระคุณผู้เขียนทุกท่าน คณะผู้ประเมินบทความทุกท่าน กองบรรณาธิการทุกท่าน และทีมงานวารสารฯ ที่ช่วยทำให้วารสารฉบับนี้มีความสมบูรณ์แบบ พัฒนาองค์ความรู้จากการวิจัยอย่างเป็นระบบอันเป็นศาสตร์ที่สำคัญ มีเสน่ห์ และกลิ่นอายของสังคมศาสตร์ที่เป็นศิลป์ที่สำคัญอีกด้วย ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้อ่านจะได้รับประโยชน์จากบทความทั้ง 8 ชิ้นในฉบับนี้ไม่มากก็น้อย
ธนพันธ์ ไล่ประกอบทรัพย์
หัวหน้ากองบรรณาธิการ