"วารสารจีนวิทยาและการศึกษาภาษาจีนนานาชาติ"ฉบับวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ตีพิมพ์เป็นฉบับพิเศษสำหรับงานอภิปรายเชิงวิชาการ: การศึกษาภาษาจีนนานาชาติ (International Forum on Chinese Education in Asia)
งานอภิปรายเชิงวิชาการ: การศึกษาภาษาจีนนานาชาติ (International Forum on Chinese Education in Asia) จัดขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างสถาบันขงจื่อภูเก็ต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และสถาบันขงจื่อ มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนจากกองบรรณาธิการ “วารสารจีนวิทยาและการศึกษาภาษาจีนนานาชาติ” การอภิปรายเชิงวิชาการครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการด้านจีนศึกษาในสถานการณ์และรูปแบบใหม่ของประเทศในทวีปเอเชีย พร้อมทั้งหารือแนวทาง ทฤษฎีและวิธีการจัดการเรียนการสอนภาษาจีนหลังการแพร่ระบาดของโคโรนาไวรัส ซึ่งในการอภิปรายเชิงวิชาการครั้งนี้ได้รับเกียรติจากคุณเจ้าหลิงซาน รองประธานและเลขาธิการมูลนิธิการศึกษาภาษาจีนนานาชาติ และคุณเฝิงจวิ้นอิง ที่ปรึกษาด้านการศึกษาสถานเอกอัครราชทูต สาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทยเป็นประธานในพิธีเปิดและพิธีปิดผ่านช่องทางออนไลน์ นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์หลีอี่ว์หมิง จากมหาวิทยาลัยภาษาและวัฒนธรรมปักกิ่ง ศาสตราจารย์ยุทากะ ฟุรุคะวะจากมหาวิทยาลัยโอซาก้า ศาสตราจารย์อิกซัง ออม จากมหาวิทยาลัยฮันยาง ศาสตราจารย์กนกพร นุ่มทอง จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมทั้งผู้เชี่ยวชาญกว่า 10 ท่าน จาก 12 ประเทศในทวีปเอเชียร่วมนำเสนอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งในรูปแบบออนไลน์และออนไซต์ “วารสารจีนวิทยาและการศึกษาภาษาจีนนานาชาติ” จึงได้รวบรวมบทความจากการอภิปรายและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อตีพิมพ์เป็นฉบับพิเศษสำหรับทุกท่าน
บทความเรื่องข้อได้เปรียบและอุปสรรคในการเรียนภาษาจีนของผู้เรียนที่ใช้ภาษาเกาหลีเป็นภาษาแม่ โดย ศาสตราจารย์อิกซัง ออม เป็นการศึกษาโดยใช้มุมมองภาษาศาสตร์เปรียบเทียบในการวิเคราะห์ความแตกต่างและความคล้ายคลึงระหว่างภาษาเกาหลีกับภาษาจีน โดยศึกษาเปรียบเทียบจาก 5 ด้าน ได้แก่ ด้านตัวอักษร ด้านคำศัพท์ ด้านการออกเสียง ด้านรูปแบบภาษาและด้านการเรียนรู้ทางภาษา อีกทั้งยังอภิปรายถึงข้อได้เปรียบและอุปสรรคเมื่อเรียนภาษาจีนของผู้ที่ใช้ภาษาเกาหลีเป็นภาษาแม่
บทความเรื่องการศึกษาวิเคราะห์ข้อสอบการหาข้อผิดพลาดและการแนะแนวทางข้อสอบวัดระดับภาษาจีน HSK ระดับ 6 โดย กัว ฝูเหลียง (Guo Fuliang) บทความนี้เป็นการวิเคราะห์ข้อสอบ HSK ระดับ 6 ในส่วนของการหาประโยคที่มีความบกพร่องทางภาษา พร้อมทั้งสำรวจการเตรียมตัวและการแนะแนวทางก่อนสอบสำหรับผู้เรียนภาษาจีน งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ผู้เรียนภาษาจีนเข้าใจลักษณะเด่น วิธีการและหลักการเรียนรู้พร้อมให้คำแนะนำเกี่ยวกับข้อสอบประเภทดังกล่าว
บทความเรื่องการศึกษาแนวทางการเรียนการสอนการแปลภาษาจีนเป็นภาษาไทยและการแปลภาษาไทยเป็นภาษาจีนในระดับอุดมศึกษา โดย ศาสตราจารย์กนกพร นุ่มทอง และ พาน เหล่ย (Pan Lei) มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจและรวบรวมปัญหาในการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรการแปลภาษาจีนเป็นภาษาไทย และการแปลภาษาไทยเป็นภาษาจีนในระดับอุดมศึกษาของไทย ชี้ให้เห็นว่าหลักสูตรการแปลนั้นควรจัดเมื่อผู้เรียนได้ผ่านการเรียนรู้ภาษาจีนในระดับที่สามารถสื่อสารได้ดี เน้นการจัดการเรียนการสอนที่ผสมผสานระหว่างทฤษฎีและภาคปฏิบัติ พร้อมทั้งนำเสนอแนวทางในการจัดการเรียนการสอนการแปลภาษาจีนเป็นภาษาไทยและการแปลภาษาไทยเป็นภาษาจีนในระดับอุดมศึกษา
บทความเรื่องการเขียนและการใช้ตำรา“ภาษาจีน+การท่องเที่ยว” สำหรับผู้เรียนชาวไทย โดย หยาง เหวินโป (Yang Wenbo) และหม่า ลี่เจวียน (Ma Lijuan) ใช้กรณีศึกษาจากหนังสือเรื่องเที่ยวเมืองไทย (ฉบับภาษาจีน-ไทย) ในบทความนี้ได้นำเสนอเกี่ยวกับหลักปรัชญา หลักการ วิธีการและรูปแบบตำราที่เป็นลักษณะตำรา “ความเป็นท้องถิ่น + วัตถุประสงค์เฉพาะด้าน” อีกทั้งยังแนะนำขั้นตอนวิธีการเขียนตำรา การนำตำราชุดนี้มาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนภาษาจีน
บทความเรื่องการศึกษาเปรียบเทียบหลักสูตรภาษาจีนระดับอุดมศึกษาในประเทศเวียดนาม โดย Nguyen Dinh Hien เป็นการเปรียบเทียบความเหมือนและความแตกต่างของหลักสูตรภาษาจีนจากมหาวิทยาลัยสามแห่งของประเทศเวียดนาม ซึ่งครอบคลุมทั้งโครงสร้างหลักสูตร จำนวนหน่วยกิต และจำนวนชั่วโมงในการจัดการเรียนการสอน พร้อมทั้งนำเสนอข้อเสนอแนะเพื่อใช้ในการปรับปรุงหลักสูตร
บทความเรื่องการศึกษาวิเคราะห์ข้อผิดพลาดการใช้โครงสร้างคำว่า“把”ของผู้เรียนที่ใช้ภาษาเปอร์เซียเป็นภาษาแม่ โดย Amin Bazrafshan และ Reza Mirzaei Barzoki ผู้วิจัยเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม วิเคราะห์ประเภทของข้อผิดพลาดในการใช้โครงสร้างคำว่า“把”ของผู้เรียนที่ใช้ภาษาเปอร์เซียเป็นภาษาแม่ เปรียบเทียบโครงสร้างประโยคและความหมายของคำว่า“把” และใช้ข้อมูลจากการเปรียบเทียบภาษาจีนกับภาษาเปอร์เซียในการวิเคราะห์ข้อผิดพลาด
บทความเรื่องกลยุทธ์การพัฒนาการศึกษาภาษาจีนในประเทศบังกลาเทศ โดย โจว เว่ยเว่ย (Zhou Weiwei) เป็นการรวบรวมสถานการณ์การศึกษาภาษาจีนในประเทศบังกลาเทศ พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาภาษาจีน ไม่ว่าจะเป็นกลยุทธ์ในการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีน กลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ กลยุทธ์การทำความร่วมมือกับสถานศึกษา และกลยุทธ์การวิจัยการศึกษาภาษาจีนนานาชาติ เป็นต้น
บทความเรื่องการศึกษาแรงจูงใจในการเรียนภาษาจีนของผู้เรียนชาวฟิลิปปินส์จากมุมมองทางภาษาและเศรษฐศาสตร์ โดย เมิ่ง ก่วงเจี๋ย (Meng Guangjie) เป็นการเสนอแนะวิธีการสร้างความสนใจและแรงจูงใจในการเรียนภาษาจีน โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือ หน่วยงานที่มีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับประเทศจีน ผสมผสานการเรียนในรูปแบบ “ภาษาจีน + อาชีวศึกษา” พร้อมทั้งผลักดันการศึกษาภาษาจีนในท้องถิ่นของประเทศฟิลิปปินส์
บทความเรื่องสภาพ แนวโน้ม และปัญหาการเรียนการสอนภาษาจีนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดย จาง หมิงหู่ (Zhang Minghu) และ เจ้า เซิ่งหนาน (Zhao Shengnan) เป็นการบ่งชี้ให้เห็นว่าแม้การเรียนการสอนภาษาจีนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวจะมีแนวโน้มการพัฒนาไปในแนวทางที่ดี แต่ก็ยังพบว่ามีปัญหาและความท้าทาย พร้อมทั้งวิเคราะห์การพัฒนาการเรียนการสอนภาษาจีน แนวทางการแก้ปัญหาและแนวโน้มการศึกษาภาษาจีนในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในอนาคต
บทความเรื่องการวิเคราะห์เปรียบเทียบการออกเสียงพยัญชนะภาษาจีนของผู้เรียนชาวไทย กรณีศึกษาจากการใช้โปรแกรม Praat โดย จาง เมิ่งซือ (Zhang Mengshi) เป็นการศึกษาลักษณะการออกเสียง วิธีการออกเสียง การส่งลมโดยใช้โปรแกรม Praat วิเคราะห์สภาพการออกเสียงผิดของผู้เรียนภาษาจีนชาวไทย จัดกลุ่มข้อผิดพลาดของการออกเสียงอันได้แก่ การออกเสียไม่ก้องเป็นเสียงก้อง และ การใช้วิธีการออกเสียงผิด ชี้ให้เห็นถึงสาเหตุของข้อผิดพลาดในการออกเสียงภาษาจีนของผู้เรียนภาษาจีนชาวไทย
เผยแพร่แล้ว: 2022-06-25